ส่วนสุขภาพสัตว์ จัดประชุมวิชาการนำเสนอผลงานด้านระบาดวิทยาทางสัตวแพทย์
จังหวัดอุบลราชธานีร่วมมือกับผู้ประกอบการฯจัดโครงการอบรมเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร
“เข้าใจ รู้ทัน ร่วมป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร” (African Swine fever)
วันพฤหัสบดี ที่ 18 กรกฎาคม 2562 จังหวัดอุบลราชธานีร่วมมือกับผู้ประกอบการฯ จัดโครงการอบรมเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร เข้าใจ รู้ทัน ร่วมป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever:ASF) ในเขตพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีทั้ง 25 อำเภอ เป็นอำเภอชายแดนที่มีพื้นที่ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน 10 อำเภอ ณ โรงแรมลายทอง อำเภอเมืองฯ จังหวัดอุบลราชธานี โดย นายเฉลิมพล มั่งคั่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีเป็นประธานในพิธีเปิด ซึ่งมีส่วนราชการ ผู้ประกอบการฯและเกษตรกรร่วมโครงการอบรมในครั้งนี้คือ นายเอกภพ ทองสวัสดิ์วงศ์ ปศุสัตว์เขต 3 นายวิสุทธิ์ สารพัฒน์ ปศุสัตว์จังหวัดอุบลราชธานี นายไพศาล พัฒนเดชกุล หัวหน้าด่านกักกันสัตว์อุบลราชธานี คุณนิติศักดิ์ จั่นสมพงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ คุณณัฎฐ์เอก เมืองไทยชัช ผู้บริหารอาวุโสด้านความมั่นคงและยั่งยืนขององค์กร จากบริษัทซีพีเอฟ (ประเทศไทย) มหาชนจำกัด สพ.ญ.ศศิธร หรั่งอ่อน จากบริษัทเบอร์ริงเกอร์ อินแกลไฮม์ แอนนิมอล เฮลท์ (ประเทศไทย) จำกัด และเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรจาก 25 อำเภอ จำนวน 300 คน โดยรองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ได้แจ้งเตือนมายังเกษตรกร ผู้ประกอบการ ประชาชนทั่วไปในเขตพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดใกล้เคียงเกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever : ASF) ในเขตพื้นที่แขวงสาละวัน นครหลวงเวียงจันทร์และล่าสุดที่สะหวันนะเขตสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และมาตรการป้องกัน ควบคุมเฝ้าระวังโรคฯไม่ให้แพร่ระบาดมาสู่ประเทศไทยตามแนวชายแดน ให้รับทราบโดยทั่วกัน ในขณะนี้ว่า
“ประเทศไทยยังไม่มีการระบาดของโรคดังกล่าวนี้ ถึงแม้จะตรวจพบสารพันธุกรรม โรค ASF ในผลิตภัณฑ์จากสุกรที่มาจากคนนำติดตัวมาจากประเทศที่มีการแพร่ระบาดของโรคASF จึงถูกตรวจยึดและทำลายก่อนถึงสุกรสู่การติดเชื้อ ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคได้ และใคร่ขอความร่วมมือในกรณีผู้ที่เดินทางไปศึกษาดูงานหรือไปทำงานในฟาร์มสุกรในประเทศที่เกิดการระบาดและมีความเสี่ยงสูงที่มีการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร เมื่อเดินทางกลับขอให้งดเข้าฟาร์มเลี้ยงสุกรไม่น้อยกว่า 5 วัน พร้อมทั้งให้ปฏิบัติตามหลักความปลอดภัยทางชีวภาพอย่างเคร่งครัด และผู้ประกอบการร้านอาหาร ภัตตาคาร โรงแรม โรงอาหาร สถานประกอบเลี้ยง ให้งดจำหน่าย จ่าย แจก เศษอาหารเหลือจากการรับประทานให้ผู้ที่นำไปเลี้ยงสุกรเพื่อป้องกันการระบาดของโรคดังกล่าว”
นายวิสุทธิ์ สารพัฒน์ ปศสุตว์จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่าในการควบคุม ป้องกันและเฝ้าระวังโรค ASF จังหวัดอุบลราชธานีว่า มีสุกรที่ขึ้นทะเบียนปี 2562 ในพื้นที่ จำนวน 166,499 ตัว เกษตรกรผู้เลี้ยงทั้งหมด 8,155 ราย และจังหวัดอุบลราชธานียังไม่มีรายงานการพบโรคหรือตรวจพบสารพันธุกรรมโรค ASF จากผลิตภัณฑ์จากสุกรแต่อย่างใด อีกทั้งได้มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังและควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (War Room) จังหวัดอุบลราชานี โดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมตอบโต้ภาวะฉุกเฉินกรณีเกิดโรคฯซึ่งเบื้องต้นได้วางมาตรการเฝ้าระวัง ควบคุม ป้องกันโรค ASF อย่างเข้มงวดโดยเฉพาะมาตรการควบคุมเคลื่อนย้ายสุกร ซาก หรือผลิตภัณฑ์ เข้า ออก หรือภายในพื้นที่ตามระเบียบปฏิบัติของกรมปศุสัตว์อย่างเคร่งครัดโดยตั้งจุดตรวจและลาดตระเวนตามแนวจุดผ่านแดน จำนวน 8 แห่งของ 10 อำเภอชายแดน คือ 1. จุดผ่านแดนถาวรช่องเม็ก 2.จุดผ่านแดนถาวรปากแซง 3.จุดผ่อนปรนหน้าด่านศุลกากรเขมราฐ 4.จุดผ่อนปรนบ้านสองคอน 5.จุดผ่อนปรนบ้านด่านเก่า 6.จุดผ่อนปรนช่องตาอู 7.จุดผ่อนปรนช่องอานม้าและ 8. ท่าข้ามประเพณีคันท่าเกวียน โดยมีการการตรวจยึด ทำลายสัตว์ ซากหรือผลิตภัณฑ์ จากสุกรพร้อมได้ส่งตัวอย่างเพื่อตรวจหาเชื้อ ASF ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ก่อนทำลายตามระเบียบกรมปศุสัตว์ ซึ่งผลตรวจยังไม่พบเชื้อ ASF ทุกตัวอย่างที่ส่งตรวจ ขอให้เกษตรกรอย่าได้ตระหนกและขอให้มั่นใจในการดำเนินงานที่เข้มงวดของศูนย์ฯและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการป้องกันโรคฯไม่ให้เข้ามาสร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมการผลิตสุกร ของจังหวัดอุบลฯ รวมทั้งขอย้ำให้เกษตรกรยกระดับการเลี้ยงสุกรให้มีระบบการป้องกันโรคเข้าสู่ฟาร์มตามมาตรฐาน GAP และหากเป็นรายย่อยให้ใช้มาตรฐานการป้องกันและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (GFM) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจสอบแหล่งที่มาของสุกรก่อนเข้าฟาร์ม และงดเว้นการนำอาหารที่ไม่ผ่านการปรุงสุกที่อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียส อย่างน้อย 30 นาที มาเลี้ยงสุกร นอกจากนี้ ให้สังเกตอาการสุกร อย่างใกล้ชิด หากพบสุกรแสดงอาการป่วยตามกล่าวข้างต้น ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที หรือ Call Center ศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังและควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (War Room) จังหวัดอุบลราชธานีหมายเลขโทรศัพท์ 086-3827664 หรือแอพพลิเคชัน กรมปศุสัตว์ DLD 4.0 “แจ้งการเกิดโรคระบาด” เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้เร่งดำเนินการให้การช่วยเหลืออย่างทันท่วงที